top of page

มาทำความรู้จัก IP Code มาตรฐานกันน้ำและกันฝุ่น

IP Code (ในบางครั้งอาจจะเรียกว่า IP rating) ย่อมาจาก International Protection Marking หรือ Ingress Protection Marking เป็นมาตรฐานสากลที่ทาง IEC (International Electrotechnical Commission) ใช้กำหนดความสามารถในการป้องกันตัวของอุปกรณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อป้องกันวงจรภายในจากน้ำและของแข็ง ซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถป้องกันได้มากกว่าน้ำและของแข็ง เช่น น้ำมัน แรงกระแทก และอื่นๆ เป็นต้น

ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้า IP Code นี้กันว่ามันมีลักษณะหรือระดับการป้องกันยังไง และสุดท้ายวิธีการอ่านค่า IP Code ซึ่งเริ่มแรกเรามารู้จักลักษณะของมันก่อนว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ลักษณะ IP Code และระดับการป้องกัน

IP Code มีลักษณะขึ้นต้นด้วย IP แล้วตามด้วยตัวเลข 2 หลัก (IP XX) ซึ่งตัวเลขหลักแรกหมายถึงค่าป้องกันอนุภาคของแข็งเข้าไปในอุปกรณ์ ส่วนตัวเลขหลักที่สองหมายถึงค่าป้องกันของเหลว (น้ำ) แทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ แต่ในบางครั้งอาจจะมีตัวอักษรหนึ่งตัวห้อยท้ายตามหลัง โดย IP Code มี format ตามตารางด้านล่างนี้

ค่าการป้องกันอนุภาคของแข็ง (Solid Particle Protection)

ค่าการป้องกันที่ว่านี้เป็นคนละตัวกับการป้องกันแรงกระแทกและรอยขีดข่วน โดยค่าการป้องกันนี้เป็นตัวบอกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถป้องกันอนุภาคของของแข็งเข้ามาในตัวเครื่องได้ในระดับไหน ซึ่งจะมีด้วยกันอยู่ 7 ระดับ (0-6)

  • ระดับ 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย

  • ระดับ 1 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่เกิน 50 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์

  • ระดับ 2 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12.5 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์

  • ระดับ 3 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์

  • ระดับ 4 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์

  • ระดับ 5 สามารถกันฝุ่นได้ระดับหนึ่ง สามารถมีฝุ่นเล็ดรอดเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย

  • ระดับ 6 สามารถป้องกันฝุ่นได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

หมายเหตุ ค่าป้องกันอนุภาคของแข็งในบางครั้ง อาจจะไม่ได้หมายถึงการป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามาภายในตัวอุปกรณ์ได้เพียงอย่างเดียว อาจจะหมายถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ไปสัมผัสกับชิ้นส่วนภายในได้โดยตรง เช่น แผงวงจรหรือสายไฟ โดยวัตถุขนาด 50 มิลลิเมตรนั้นหมายถึงหลังมือของผู้ใช้ ส่วนขนาด 12.5 มิลลิเมตร ป้องกันไม่ให้นิ้วมือเข้าไปสัมผัสกับชิ้นส่วนภายใน

ส่วน 2.5 และ 1 มิลลิเมตร มีไว้เพื่อไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆ จากภายนอกเข้าถึงตัวชิ้นส่วนภายในได้โดยตรง เช่น ไขขวง คีม สายไฟ ยกตัวอย่างเช่นตู้ ATM ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงอุปกรณ์ภายในเพื่อป้องกันการโจรกรรม

ค่าการป้องกันของเหลวแทรกซึม (Liquid Ingress Protection)

ค่าป้องกันของเหลวในที่นี้หมายถึงค่าการป้องกันของเหลวจำพวกน้ำเท่านั้น ไม่รวมถึงการป้องกันของของเหลวชนืดอื่นที่ไม่ใช่น้ำ อย่างเช่น น้ำมัน ซึ่งค่าป้องกันที่ว่านี้จะมีด้วยกันอยู่ 12 ระดับ (0-9k)

  • ระดับ 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย

  • ระดับ 1 ป้องกันหยดน้ำ (กันน้ำ:waterproof) สามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ในแนวตั้ง ทดสอบโดยการหยดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 10 นาที ในปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝน 1 มิลลิเมตรต่อนาที

  • ระดับ 2 ป้องกันหยดน้ำ (กันน้ำ:waterproof) ในระดับเอียงได้ถึง 15 องศาสามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 15 องศาจากแนวตั้งได้ ทดสอบโดยการหยดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 10 นาที ในปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝน 3 มิลลิเมตรต่อนาที

  • ระดับ 3 ป้องกันการฉีดน้ำ (กันน้ำ:waterproof) ในระดับเอียงได้ถึง 60 องศา สามารถป้องกันอุปกรณ์จากการฉีดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 60 องศาจากแนวตั้งได้โดยไม่ก่อเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 5 นาที ในปริมาณน้ำ 700 มิลลิลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 80 - 100 กิโลปาสคาล

  • ระดับ 4 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการสาด (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย) สามารถป้องกันน้ำจากการสาด (Water splashing) ในทุกๆ ทิศทาง โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 5 นาที ในปริมาณน้ำ 10 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 80 - 100 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร

  • ระดับ 5 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีด สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดน้ำขนาด 6.3 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 15 นาที ในปริมาณน้ำ 12.5 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 30 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร

  • ระดับ 6 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดด้วยแรงฉีดที่มากกว่าระดับ 5 (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย)สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 3 นาที ในปริมาณน้ำ 100 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 100 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร

  • ระดับ 6K ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดน้ำด้วยแรงดันสูง (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย)เป็นมาตรฐานที่ต่อยอดจากระดับ 6 สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดแรงดันสูงขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 3 นาที ในปริมาณน้ำ 75 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 1000 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร

  • ระดับ 7 ป้องกันอุปกรณ์จากการจมน้ำ (กันน้ำซึม:water resistant) ได้ลึกถึง 1 เมตร ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกสูงสุด 1 เมตร การทดสอบจะนำอุปกรณ์ไปแช่น้ำในความลึกขั้นต่ำ 15 เซ็นติเมตร สูงสุด 1 เมตร นาน 30 นาที

  • ระดับ 8 ป้องกันอุปกรณ์จากการจมน้ำ (กันน้ำซึม:water resistant) ได้ลึกมากกว่า 1 เมตร ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกที่มากกว่า 1 เมตรภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นๆ จะกำหนด อย่างสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องปิดจุดเชื่อมต่อทั้งหมดก่อนจะนำลงน้ำ ส่วนความลึกสูงสุดจะเท่าไรก็ได้ตามแต่ผู้ผลิตอุปกรณ์จะกำหนดแต่ต้องมากกว่า 1 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์นั้นๆ อาจจะมีน้ำแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ได้โดยที่ไม่ทำให้อุปกรณ์เสียหาย

  • ระดับ 9K ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดด้วยแรงดันและน้ำอุณหภูมิสูงป้องกันน้ำจากการฉีดน้ำแรงดันสูงในระยะใกล้ๆ ด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูง

ค่าการป้องกันอื่นๆ

เป็นมาตรฐานการป้องกันเพิ่มเติม มีไว้ป้องกันอันตรายจากการเข้าถึงอุปกรณ์จากสิ่งต่างๆ ซึ่งมักจะมีค่าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเดียวมีลักษณะดังนี้

  • A ป้องกันอันตรายหากเอาหลังมือ (Back of Hand) ไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์

  • B ป้องกันอันตรายหากเอานิ้ว (Finger) ไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์

  • C ป้องกันอันตรายหากเอาทูลอย่างเช่น ไขขวง ถ้าไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์

  • D ป้องกันอันตรายหากเอาสายไฟไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์

นอกเหนือจากนี้อาจจะยังมีตัวอักษรที่สามารถผนวกเข้าไปเพิ่มเติมใน IP Code ได้ เพื่อบอกข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการป้องกันของตัวอุปกรณ์ มีลักษณะดังนี้

ข้อมูลจาก http://droidsans.com

Recent Posts
Archive
bottom of page